
ชะนีมงกุฎ ( Hylobatess pileatusss )
ชะนีมงกุฎมีถิ่นการกระจายพันธุ์เฉพาะในป่าดิบที่มีชั้นเรือนยอดสูงทางภาคตะวันออกประเทศไทย และประเทศ ลาวกับประเทศกัมพูชา เท่านั้น มีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับชะนีมือขาว และในอดีตเคยจัดไว้เป็นชะนีชนิด เดียวกับชะนีมือขาว ลักษณะที่สำคัญของชะนีมงกุฎคือ สีของลำตัวจะขึ้นอยู่กับเพศของชะนี ชะนีมงกุฎเพศผู้ เมื่อโตขึ้นจะมีสีดำทั่วทั้งตัวยกเว้นยกเว้นบริเวณขนคิ้วจะเป็นแถบขาว และมีแถบสีขาว เป็นวงรอบกระหม่อม และมีขนสีขาวแข็งรอบอวัยวะเพศ ส่วนชะนีมงกุฎเพศเมียจะมีลำตัวสีเทาหรือเทาปนน้ำตาลอ่อน มีขนบนกระหม่อม สีดำดูคล้ายมงกุฎและจะมีขนบนหน้าอกลงไปถึงท้องน้อยเป็นสีดำ ส่วนลูกของชะนีมงกุฎเมื่อคลอดออกมาใหม่ ๆ จะมีสีขาว และจะ เปลี่ยนสีขนเมื่ออายุ ประมาณ 3 ปี ดังนั้นในช่วงวัยรุ่นชะนีมงกุฎจะมีสีของลำตัวที่ คล้ายคลึงกันและในเพศผู้เมื่ออายุประมาณ 5-6 ปี จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำทั้งตัว ชะนีมงกุฎจะกินผลไม้,ใบไม้,แมลง และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร
ชะนีชนิดนี้ทางอนุสัญญา CITES จัดอยู่ใน Appendix 1 คือเป็นชนิดพันธุ์ที่ตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากภาวะการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการลักลอบฆ่าแม่ชะนีเพื่อนำลูกชะนีมาเป็นสัตว์เลี้ยงประกอบ กับการที่สัตว์ชนิดนี้ มีถิ่นการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างแคบจำกัด อยู่บริเวณ อินโดจีนเท่านั้น โอกาสที่ชะนีมงกุฎจะสูญพันธุ์ จึงมีอยู่สูงมาก ในพื้นที่ป่าตะวันออกพบมากในเขาสอยดาว และตามพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ชะนีมงกุฎ ได้รับการประกาศให้เป็น"สัตว์ป่าคุ้มครอง"

ตะกองหรือกิ้งก่ายักษ์( Physignathus cocincinus )
ตะกองเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาดของตะกองจะยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร ( ปลาย จมูกถึงโคนหาง 35-50 เซนติเมตร และหางยาว 55-70 เซนติเมตร) โดยตะกองเพศเมียจะมีขนาดเล็กกว่า ตะกองเพศผู้ราว 10-30 เซนติเมตร และจะมีหัวป้อมกว่า สีของลำตัวก็เข้มกว่า สีของตะกองจะมีสีเขียวและสัตว์ชนิดนี้ สามารถที่จะเปลี่ยนสีของมันให้เข้มขึ้น และอ่อนลงตามสภาพแวดล้อมได้
ตะกอง มีการกระจายทั่วไปในประเทศลาว, เวียดนาม,กัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย ตะกองชอบที่จะอาศัยหากิน อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีสภาพป่าที่ค่อนข้างทึบ เช่นบริเวณป่าดิบแล้งริมลำห้วยที่มีน้ำไหล
สัตว์ชนิดนี้เวลามันตกใจพบว่ามันจะวิ่ง 2 ขาโดยหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว และโดยปกติเมื่อมีภัยมันจะกระโจนลงน้ำ และสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานานๆ สำหรับอาหารที่มันกินก็คือ แมลงชนิดต่างๆ,กบ,เขียด,ปลาเล็กๆ,หนูตัวเล็กๆ และผลไม้บางชนิด ในที่กรงเลี้ยงพบว่าตะกองมีอายุถึง 30 ปี ตะกองจะมีฤดูกาลผสมพันธุ์ และวางไข่ในระหว่าง เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และในหนึ่ง ครั้งตะกองเพศเมียจะวางไข่ประมาณ 10 ฟอง ตะกองจะวางไข ่บริเวณพื้นดินที่มีลักษณะเป็นดินทรายและมันจะขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 12-17 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร
ในปัจจุบันจำนวนประชากรของตะกองได้ลดลงจากในอดีดมาก เนื่องจากปัญหาการจับตะกองไปเป็นอาหาร ของชาวบ้านรอบๆป่า และปัญหา การบุกรุกทำลายป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของตะกองซึ่งมีผลให้บ้านของเจ้ากิ้งก่ายักษ์ถูกลดขนาดให้เล็กลง และผืนป่าตะวันออกแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญแหล่งหนึ่งของตะกอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกาศให้ตะกองเป็น"สัตว์ป่าคุ้มครอง"

จระเข้น้ำจืด ( Crocodylus siamensis )
จระเข้ชนิดนี้มีการแพร่กระจายอยู่ใน ประเทศไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอร์เนียว ของประเทศอินโดนีเซีย จระเข้น้ำจืดมักจะอาศัยอยู่ตามทะเลสาบในที่ราบ,บึงน้ำ,หนองน้ำ,แม่น้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บึงน้ำที่แยกออกมาจากแม่น้ำ และลำธารที่มีน้ำไหลเอื่อยๆ ซึ่งมีชายฝั่งเป็นโคลน,เลน นอกจากนี้ในอดีดพบว่าจระเข้น้ำจืด จะอาศัยและหากินในพื้นที่ชุ่มน้ำ ( WETLAND ) ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
จระเข้น้ำจืดเป็นจระเข้ชนิดที่มีขนาดลำตัวเล็ก ที่สุดในบรรดา จระเข้ทั้ง 3 ชนิด ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย( อีก 2 ชนิดคือ จรเะข้น้ำเค็มและตะโขง )เมื่อโตเต็ม ที่จะมีขนาดลำตัวยาวไม่เกิน 4 เมตร และจะมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม มีสีของลำตัวค่อนข้างดำ ส่วนปากเมื่อมองจากด้านบนจะมีขนาดกว้างกว่าปากของจระเข้น้ำเค็ม และมีเกล็ด 4 เกล็ด เรียงตามขวางบนท้ายทอยระหว่าง ลูกตาทั้ง 2 ข้าง มีสันเล็กๆตามยาวอยู่ตรงกลางฝ่าเท้าคู่หลังจะมีพังผืดยึดระหว่างนิ้วเท้า แต่ไม่มากนัก
ฤดูกาลผสมพันธุ์ของจระเข้จะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมจนไปถึงเดือนมีนาคมและแม่จระเข้จะวางไข่ในระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม โดยทั่วไปจระเข้น้ำจืดจะสร้างรังและขุดหลุมวางไข่โดยการนำซากพืชมากองไว้ปิดทับหลุมไข่ โดยเฉลี่ยจระเข้ จะวางไข่ครั้งละประมาณ 20-40 ฟอง และเพศของลูกจระเข้นี้จะถูกกำหนดโดยอุณหภูมิ คือถ้าหากอุณหภูมิในหลุมไข่ประมาณ 29 องศาเซลเซียส ลูกจระเข้จะใช้เวลา ในการฟักไข่ประมาณ 75-85 วัน ลูกจระเข้ส่วนใหญ่จะฟักออกมาเป็นเพศเมีย และถ้าหากหลุมไข่ของจระเข้มีอุณหภูมิประมาณ 32 องศาเซลเซียส ลูกจระเข้ที่ฟักออกมาส่วนใหญ่จะเป็นเพศผู้ แต่ในบางรังพบว่าจะมีลูกจระเข้ฟักออกมาทั้ง 2 เพศ จระเข้น้ำจืดจะกินปลา และสัตว์น้ำ เช่น กบ,เขียด เป็นอาหาร แต่ในบางครั้ง พบว่ามันจะกิน เก้งและกวางที่ลงมาใช้แหล่งน้ำเป็นอาหารด้วย และโดยธรรมชาติจระเข้น้ำจืดจะไม่ทำร้ายมนุษย์ ในปัจจุบัน ประชากรของจระเข้ใน แหล่งธรรมชาติได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนสูญพันธุ์ไปในหลายๆพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของ จระเข้น้ำจืดในอดีด เช่น ลุ่มน้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี,บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ฯลฯ
เนื่องจากหนังของจระเข้เป็นสินค้าที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกประกอบกับสัตว์ชนิดนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองและ ปกป้องจากกฎหมายอย่างจริงจัง แต่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2537 เจ้าหน้าที่ของทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ได้พบจระเข้น้ำจืดบริเวณลำคลอง สายหนึ่ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา และยังสามารถถ่ายภาพไว้ เป็นหลักฐานได้อีกด้วย ในปัจจุบันตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จระเข้น้ำจืดมีสถานภาพเป็น " สัตว์ป่าคุ้มครอง "

ไก่ฟ้าหลังเงินจันทบูรณ์ ( Lophura nyethemmera lvisi )
ในปัจจุบันไก่ฟ้าชนิดนี้ในประเทศไทยอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมันถูกบุกรุกทำลายและเปลี่ยน สภาพเป็น พื้นที่เกษตรกรรม ประกอบกับการที่ไก่ฟ้าหลังเงินจันทบุรีมีถิ่นที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างจำกัด คือในพื้นที่บริเวณป่าตะวันออกนี้เท่านั้น ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ไก่ฟ้าหลังเงินจันทบุรีได้รับการประกาศให้เป็น " สัตว์ป่าคุ้มครอง "
ในประเทศไทย พบการกระจายของไก่ฟ้าชนิดนี้เพียงพื้นที่ป่า ตะวันออกนี้เท่านั้น โดยจะพบมากที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว,เขาคิชฌกูฏ,เขาสระบาป และบริเวณเขาบรรทัดซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ไก่ฟ้าหลังเงินจันทบุรี จะมีขนาดเล็กกว่าไก่ฟ้าหลังเงินธรรมดาเล็กน้อย ในเพศผู้จะมีสีของลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำเงินอมดำ มีลายเป็นรูปตัววีสีขาวอยู่ทุกเส้นขนตลอดปีกจนถึงสุดหางแนวขน ตั้งแต่ใต้คางจนถึงท้องเป็นสีน้ำเงินเข้มอมดำ หน้าสีแดงเข้ม แข้งสีแดง มีขนสีน้ำเงินเข้มอมดำเป็นกระจุก จากหัวยาวขนานกับลำตัว ซึ่งผิดกับไก่ฟ้าหลังเงินธรรมดา ซึ่งขนชนิดนี้จะราบไปตามท้ายทอย เพศเมียเป็นสีน้ำตาลแดง ทั้งขนบนหัวมีหงอนสีน้ำตาลแดงพาดชี้ยาว ไปทางด้านท้ายทอย หน้าและแข้งมีสีแดง ไม่มีเดือย ตั้งแต่ส่วนหัวลงมาและท้องจะมีสีน้ำตาลเข้มจางกว่า ส่วนลำตัวและส่วนหางไก่ฟ้าหลังเงินจันทบุรี จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างสูง เช่นบริเวณป่าดิบชื้น บนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว มีนิสัยหากินในเวลากลางวันโดยจะหากินกันเป็นคู่ๆหรือกลุ่มเล็กๆ การหากินจะใช้เท้าคุ้ยเขี่ย เช่น เดียวกับไก่บ้าน โดยจะหากินขุยไผ่,เมล็ดหญ้า,ลูกไทร,แมลง,ผลไม้ที่ร่วงหล่น จากลำต้น,ไส้เดือน,ตัวหนอน และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆเป็นอาหาร
ข้อมูล: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร