เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ความเป็นมาในอดีต
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าตะวันออก หรือกลุ่มป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดภาคตะวันออก ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน หลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ร่วมสมัยกับประวัติของมนุษย์โบราณเริ่มตั้งแต่ในยุคของขอมยังเรืองอำนาจในสุวรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ในขณะที่พี้นที่เขตที่ราบภาคกลางยังเจิ่งนองไปด้วยน้ำและทะเลตม ภาคตะวันออกกลับเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ซากปรักหักพังที่ยังหลงเหลืออยู่ในภาคตะวันออกของปราสาทขอม ๓ แห่ง คือ ปราสาทหินที่วัดสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ซากปราสาทที่เมืองพญาเร่ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี และปราสาทหินที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ล้วนเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกว่าในอดีตพี้นที่โดยรอบเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง ถึงขนาดที่มีการสร้างปราสาทหินเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมความเชื่อในทางศาสนา ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าชนชั้นสูงของสังคมขอมในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญกับพี้นที่บริเวณนี้ ซึ่งเป็นเขตชายขอบของอาณาจักรขอมโบราณ หากลากเส้นตรงเชื่อมระหว่างซากปราสาทหินทั้ง ๓ แห่ง พี้นที่ที่ได้จะครอบคลุมพี้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนทั้งหมด ตลอดเส้นทางเดินเชื่อมต่อปราสาทหินทั้ง ๓ ย่อมมีชุมชนตั้งอยู่เรียงราย การเดินทางไปมาระหว่างชุมชนใหญ่ทั้ง ๓ เมืองและชุมชนขอมรายทางที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ในการดำรงชีวิตจากป่าที่เป็นพี้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ในปัจจุบัน จากการเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ของขอมในอดีต ทำให้ป่าผืนนี้เป็นป่าที่เคยผ่านการใช้ประโยชน์มาก่อน การหักร้างถางพงเพื่อสร้างบ้าน และเพื่อประกอบอาชีพทางเกษตร ทำให้ป่าผืนนี้เคยถูกทำลาย ภายหลังสังคมมนุษย์ในพื้นที่เกิดการล่มสลาย โดยไม่ทราบสาเหตุ ป่าได้ฟื้นกลับคืนสภาพมาอีกครั้งหนึ่ง บ้านเรือนผู้คนที่สร้างด้วยวัสดุง่ายต่อการเสื่อมสลาย เช่น ไม้ ดิน และหญ้า ได้สิ้นสภาพลงไปตามกาลเวลา คงเหลือไว้แต่ศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจที่ชุมชนและผู้ปกครองได้บรรจงสร้างสรรค์ไว้ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งปราบขบถเจ้าอนุวงศ์ กองทัพไทยสามารถยึดเมืองนครพนม ที่เป็นเมืองหน้าด่านอยู่ใต้อิทธิพลของลาวได้นั้น กองทัพไทยได้กวาดต้นผู้คนจากเมืองนครพนมลงมากรุงเทพฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๓ โปรดให้แยกคนเหล่านั้นออกเป็น ๒ กลุ่ม เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกันก่อความวุ่นวายเนื่องจากเป็นคนกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งให้เอาไปไว้ที่พนัสนิคม ซึ่งขณะนั้นเป็นตำบลเล็กๆ ในภาคตะวันออก และอีกกลุ่มหนึ่งให้นำไปไว้ในพี้นที่ที่ไม่มีชื่อเรียก อยู่ไม่ไกลจากบางคล้า และอยู่ห่างจากทางตอนเหนือของตำบลพนัสนิคมพอสมควร ภายหลังเรียกตำบลที่นำคนนครพนมกลุ่มที่ ๒ ไปไว้นี้ว่า “พนมสารคาม” ซึ่งมีความหมายว่า “นิคมของคนที่มาจากเมืองหรือนครพนม” คนพนัสนิคม และคนพนมสารคาม จึงนับความเป็นญาติกันมาจนถึงทุกวันนี้
พื้นที่ป่าตะวัออกจึงเคยเป็นพื้นที่ผ่านการใช้ประโยชน์อันยาวนาน จากยุคขอมโบราณ มาสู่ยุคคนไทยในปัจจุบัน รวมระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑,๓๐๐ ปี ที่ป่ามีโอกาสรับใช้มนุษย์โดยตรง จนกระทั้งในทศวรรษที่ ๒๕๑๐ รัฐบาลได้สร้างถนนที่สำคัญ ๒ สายคือ สายสระแก้ว-จันทบุรี และสายสัตหีบ-ปักธงชัย ที่ทำให้เกิดการไหลบ่าของผู้คนจากทั่วสารทิศ เข้ามาทำมาหากิน ยึดถือครอบครองพื้นที่ เกิดการตั้งชุมชนที่ถาวร และหนาแน่น ป่าผืนนี้ก็ยังรับใช้ผู้คนตลอดมาจนกระทั้งในปี ๒๕๓๒ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสัมปทานป่าบกทั่วประเทศป่าตะวันออกเป็นป่าสัมปทานผืนแรกของประเทศที่ได้รับการยกเลิกการทำไม้ และต่อมาในปี ๒๕๓๕ รัฐบาลได้ประกาศผนวกพื้นที่ป่าที่เคยถูกสัมปทานทำไม้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองจนมาถึงทุกวันนี้
สภาพปัจจุบัน
สถาพป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนในปัจจุบันเป็นป่าดิบแล้งกว่า ร้อยละ๙๐ ของพื้นที่ทั้งหมด ที่เหลือเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า และสวนป่า นอกจากนี้กว่า ร้อยละ๘๐ ของพื้นที่เป็นที่ราบ ที่อยู่ต่ำกว่า ๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนที่ผนวกเพิ่มนี้ เคยมีการบุกรุก ตั้งถิ่นฐานของราษฎรมาก่อน กว่า ๑,๐๐๐ ครอบครัว พื้นที่ทำกินประมาณ ๗๕,๐๐๐ ไร่ ทำให้ป่าและสัตว์ป่าบริเวณนี้ถูกทำลายลงไปมาก จนต้องมีการอพยพราษฎรออกจากพื้นที่ในปี ๒๕๒๙ และ ๒๕๓๒ ป่าจึงฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ยืนต้นขึ้นทดแทนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เป็นผมให้มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้เพิ่มขึ้น จากความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้อาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ขณะนี้ กำลังดำเนินการผนวกพื้นที่ป่าโดยรอบอีก ๕๙,๖๒๕ ไร่ ให้เข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อรวมกับของเดิมแล้วจะมีเนื้อที่รวม ๗๓๓,๙๗๗ ไร่ ใหญ่เป็นอันดับ ๘ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๕๕ แห่งที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน
ความหลากหลายและความสำคัญของป่าตะวันออก
สิ่งมีชีวิตในป่าตะวันออกได้รับการจดบันทึกมาตั้งแต่ในสมัยสุนทรภู่ เมื่อครั้งที่เดินทางมาเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง เป็นบันทึกการเดินทางที่บ่งบอกสภาพพื้นที่ ความเป็นอยู่ของผู้คน สัตว์และพืช ที่สำคัญที่พบในพื้นที่ตลอดระยะการเดินทาง นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่สามารถใช้ในการอ้างอิงเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันของป่าตะวันออกได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น การพบลูกจระเข้ในคลองพื้นที่รอยต่อระหว่างบางพลี-บางมังกร(บางปะกง) ที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำบางปะกงซึ่งในปัจจุบันจระเข้ก็ยังคงพบอาศัยอยู่ในป่าตะวันออก เพียงแต่มีพื้นที่หากินอยู่เฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเท่านั้นหรือนกยูงที่สุนทรภู่บันทึกว่าได้ยินนกยูงขันในดงรอยต่อระหว่างระยองกับเมืองแกลงปัจจุบันไม่มีรายงานการพบนกยูงในธรรมชาติของป่าตะวันออกอีกแล้ว ในขณะที่เสือโคร่งที่มีการกล่าวถึงหลายครั้งในบันทึกของสุนทรภู่ และบันทึกประพาสหัวเมืองตะวันออกของรัชกาลที่ ๕ แต่ในปัจจุบันเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่พบได้ยากมากในพื้นที่ป่าแห่งนี้ จนอาจกล่าวได้ว่าเสือโคร่งนั้น ได้สูญสิ้นไปแล้วจากภาคตะวันออก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายที่เกิดขึ้นในป่าตะวันออก
ปัจจุบันมีการสำรวจและรวบรวมสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ กลุ่มได้แก่
๑. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบทั้งสิ้น ๑๓๒ ชนิด เช่น กระแต บ่าง ค้างคาว ลิง ชะนีมงกุฎ กระต่าย กระรอก เม่น หมาใน หมี หมู ชะมด เสือ ช้าง กระจง กวาง เก้ง เลียงผ่า วัว และกระทิง เป็นต้น สำหรับช้างนั้นปัจจุบันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย
๒. สัตว์จำพวกนก หรือสัตว์ปีกพบทั้งสิ้น ๓๙๕ ชนิด เช่น นกยาง นกเป็ดน้ำ นกเงือก เหยี่ยว ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ป่า นกอ้ายงั่ว สำหรับไก่ฟ้าพญาลอนั้นครั้งหนึ่งเคยมีแนวความคิดที่จะเสนอให้เป็นนกที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย เนื่องจากเป็นป่าที่ราบต่ำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็น ๑ ใน ๑๐ พื้นที่ดูนกที่สำคัญของประเทศไทย
๓. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๒ ชนิด เช่น คางคก กบ เขียด ปาด อึ่งอ่าง ฯลฯ
๔. สัตว์เลื้อยคลานพบทั้งสิ้น ๑๐๗ ชนิด เช่น เต่า กิ้งก่า งู ตุ๊กแก แย้ และตะกวด เป็นต้น
จำนวนชนิดสัตว์ป่าที่พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
กลุ่มสัตว์ จำนวนชนิด จำนวนที่พบในประเทศไทย ร้อยละ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๑๓๒ ๓๐๒ ๔๓.๗๑
๒. สัตว์จำพวกนก ๓๙๕ ๙๘๒ ๔๐.๒๒
๓. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๓๒ ๑๔๑ ๒๒.๗๐
๔. สัตว์เลื้อยคลาน ๑๐๗ ๓๑๘ ๓๓.๖๕
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
รวม ๖๖๖ ๑,๗๔๓ ๓๘.๒๑
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าพื้นที่ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จะมีพื้นที่ไม่ถึง ๑% ของพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ในประเทศ แต่พบสัตว์ป่าอาศัยอยู่ถึง ๓๘.๒๑% ของสัตว์ป่าที่พบในประเทศไทย สาเหตุสำคัญมาจากเป็นป่าที่ราบต่ำและความหลากหลายของพื้นที่ถิ่นอาศัยสำหรับสัตว์ป่า
ในทางภูมิศาสตร์แล้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตั้งอยู่ระหว่างหุบเขาของเทือกเขาที่สำคัญ ๒ เทือกเขา คือ เทือกเขาสันกำแพงที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่-ทับลาน-ปางสีดา และเทือกเขาจันทบูรณ์ ที่เคยเป็นผืนป่าที่ต่อเนื่องกับเทือกเขาพนมกระวานในเขมร เทือกเขาทั้ง ๒ มีจุดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ ๑,๕๐๐-๑,๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จึงตั้งอยู่ในซอกกำแพงที่สูงตระหง่าน กำแพงนี้จึงเป็นแนวปะทะสภาวะหรือบรรเทาอากาศที่เลวร้ายให้ลดความรุนแรงลง โดยเทือกเขาสันกำแพงคอยปะทะความหนาวเย็นที่แผ่มาจากประเทศจีนในช่วงฤดูหนาว ส่วนเทือกเขาจันทบูรณ์ คอยปะทะและบรรเทาพายุในช่วงมรสุมที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ ภูมิอากาศในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนจึงไม่หนาวเย็นเหมือนเขาใหญ่และไม่ชื้นเหมือนเขาสอยดาว สัตว์ป่าจึงเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดี โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ที่ไม่ชอบภูเขาสูงชัน
|
กิจกรรม