ตามรอยค้นหา"วัวแดง" ถิ่นอาศัยป่าใหญ่ปางสีดา จากปัญหาในปัจจุบันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการลักลอบล่าสัตว์ ตลอดจนการเปลี่ยนพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนขนาดใหญ่ ส่งผลให้สัตว์ป่าหลายชนิดไม่มีพื้นที่อยู่อาศัย หรือถูกล่าจนหมดไปจากพื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของสัตว์ป่าชนิดนั้นๆ เช่นเดียวกับวัวแดง (Bos javanicus) และกระทิง (Bos gaurus) ก็เป็นสัตว์ป่าอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจนทำให้ปัจจุบันมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ทั้งในระดับนานาชาติ และระดับชาติ ตามการจัดของ IUCN และสำนักงานส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของโครงการการสำรวจประชากรวัวแดงและวางแผนจะอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มประชากรวัวแดงในถิ่นกำเนิด (in-stitu) และนอกถิ่นกำเนิด (ex-situ) ที่ อช.ปางสีดาครั้งแรก สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งทอดยาวมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลานไปยังอุทยานแห่งชาติตาพระยาจรดประเทศกัมพูชา
โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 - 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย เช่น ห้วยชมพู ห้วยสวนน้ำหอม ห้วยสาริกา ห้วยวังมืด และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง ด้วยสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และลักษณะภูมิประเทศทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงมีสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก รวมทั้งนกไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไป เนื่องจากวันที่ 4 มกราคม 52 มีวัวแดงหลงฝูงออกมาจากนอกเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกไกล จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่หมู่บ้านชมพู หมู่ 17 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา จนตกลงไปในคลองส่งน้ำกรมชลประทานสียัด
จึงทำให้เราทราบว่า ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนได้มีการขยายพันธุ์วัวแดงในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมูลนิธิ อนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งมี พลเอกประวิตร วังษ์สุวรรณ์ เป็นประธารมูลนิธิด้งกล่าว ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เพิ่มประชากรวัวแดงในถิ่นกำเนิด (in-stitu) และนอกถิ่นกำเนิด (ex-situ) ทั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถเพิ่มประชากรวัวแดงได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดได้อีกด้วย วัวแดง (Bos Javanicus)
จัดอยู่ในอันดับสัตว์กีบคู่ (Order Artiodactyla) วงศ์มหิงสา (Family Bovidae) วัวแดงมีลักษณะคล้ายวัวบ้าน (Bos Taurus) และคล้ายกับวัวเลี้ยงในเอซียตะวันออกเฉียงใต้มาก ลูกวัวแดงที่เกิดใหม่มีสีน้ำตาลเหลือง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลแดงเพศผู้ที่มีอายุมากๆ มีการเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลดำ ลักษณะที่แตกต่างจากวัวบ้าน หรือกระทิง คือ ที่วงก้นมีสีขาวทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีเส้นสีขาวรอบจมูก ตา และรอบปาก มีแถบสีดำกลางหลังชัดเจนจากไหล่จนถึงโคนหาง ระหว่างโคนเขาของเพศผู้ไม่มีขนแต่มีหนังตกกระแข็ง เรียกว่า กระบังหน้า ส่วนเพศเมียมีขนที่โคนเขา ที่เท้าทั้งสี่จากปลายเท้าจนถึงเข่ามีสีขาวลักษณะเหมือนสวมถุงเท้าคล้ายกระทิง เขาของวัวแดงไม่มีการผลัดเขา และไม่มีการแตกกิ่ง มีเขาทั้ง 2 เพศ เขาของเพศเมียจะเล็กกว่าเพศผู้ เริ่มออกหากินตั้งแต่พลบค่ำไปยันเช้าตรู่ ชอบกินหน่อไม้ ลูกไม้ป่า ดอกไม้ป่า หญ้าอ่อนๆ ใบไม้และยอดไม้ ส่วนเวลากลางวันจะหลบนอนตามพุ่มไม้หนาทึบ ในพื้นที่ป่าโปร่ง หรือป่าทุ่ง ชอบกินดินโป่ง
แต่ไม่ชอบนอนแช่ปลัก อุปนิสัยรักสงบ มักอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆประมาณ 10-15 ตัว เพศเมีย มีน้ำหนักมาก รูปร่างใหญ่ โตกว่าเพศผู้ ตัวเมียจึงกลายเป็น...จ่าฝูง ความสำคัญของวัวแดงนั้น สามารถถ่ายทอดพลังหมุนเวียนธาตุอาหาร ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และ ป่าประเภทอื่นๆ ที่มีหญ้าขึ้นปะปน เนื่องจาก ระบบย่อยอาหาร ของมันยังช่วย เร่งกระตุ้นให้เมล็ดพรรณไม้งอก ได้อย่างรวดเร็ว กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย ได้ระบุว่า วัวแดงเป็น สัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ใกล้สูญพันธุ์ จึงนำไปสู่...โครงการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์ ไปจากโลกนี้ นายวีรวัฒน์ ยมจินดา กรรมการองค์การสวน สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ได้ทำ โครงการวิจัยนิเวศวิทยาของวัวแดง ภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีการ เพาะพันธุ์ ให้เจริญเติบโต ก่อนนำไปปล่อยในป่าบริเวณ เขาอ่างฤาไน และอีกหลายพื้นที่ จากนั้นได้ ติดตามสถานภาพ ความเป็นอยู่ จำนวนประชากร ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงรวมไปถึง เส้นทางการดำเนินชีวิต ในการเลือกใช้ พื้นที่อาศัย และ ขนาดพื้นที่หากิน ก่อนที่จะรวบรวมให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ บริเวณ ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่-ปางสีดาไปถึงอ่างฤาไน ในพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกต่อไป ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์ประชากรวัวแดงได้คือ การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์วัวแดง เพื่อการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ในอดีตการปล่อยสัตว์ป่ามักกระทำโดยขาดความรู้พื้นฐานทางวิชาการ
การปล่อยแต่ละครั้งมักไม่คำนึงถึงชนิดของสัตว์ป่าที่ปล่อย สถานที่ที่จะปล่อยว่าเหมาะสมต่อสัตว์ป่าชนิดนั้นๆหรือไม่ การดำเนินการปล่อยแต่ละครั้งมักอาศัยวันสำคัญ หรือเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลสำคัญ ซึ่งพบว่าหลายครั้งที่สัตว์ป่าที่ปล่อยไม่สามารถหาอาหารกินได้และต้องตายภายหลังการปล่อย แต่ก็มีหลายกรณีที่สัตว์ป่าประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทำการปล่อยได้ ดังเช่น กรณีการปล่อยเนื้อทรายที่สูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ แต่ได้รับการเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติบริเวณทุ่งกระมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และกรณีของวัวแดงดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์วัวแดงของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอื่นๆ ที่สามารถเพาะวัวแดงได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้ดำเนินการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 13 ตัว โดยวัวแดงกลุ่มดังกล่าวได้เข้าไปใช้พื้นที่บริเวณป่าอนุรักษ์ทางด้านทิศตะวันออกของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว หลังจากปล่อยได้มีการเฝ้าติดตามประชากรกลุ่มดังกล่าวเป็นระยะ แต่ยังไม่เคยประเมินสถานภาพ จำนวนประชากร การเลือกใช้ถิ่นที่อยู่อาศัย และการรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์ภายหลังการปล่อยไปแล้ว และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ป่าปางสีดาซึ่งได้ถูกคัดเลือกให้เป็นป่ารองรับการขยายพันธุ์วัวแดง จึงต้องมีการสำรวจพื้นที่ของป่าและค้นหาร่องรอยการหากินของวัวแดงว่าจำนวนมากน้อยเพียงใดในครั้งนี้ อีกทั้งเรื่องวางมาตรการการแก้ไขปัญหาเรื่องพันธุกรรมของวัวแดงก็คือ การผสมเลือดชิด (Inbreed) หมายถึง การผสมในครอบครัวเดียวกัน หรือในหมู่เครือญาติ เช่น พ่อพันธุ์สัตว์ผสมกับลูก ลูกผสมกับแม่ พี่ผสมกับน้อง ซึ่งถือว่าการผสมระหว่างสัตว์ที่เป็นญาติพี่น้องกัน จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อวัวแดงที่อาจจะอ่อนแอลงไปแบบไม่สมบูรณ์นักในเรื่องของพันธุกรรมวัวแดง จนกระทั้งอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ก็เป็นได้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์ในป่าต้องผสมเลือดชิด(Inbreed) กันนั่นก็คือ
1. พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยลดน้อยลง (Habitat lost) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาในการลดจำนวนลงอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยถูกทำลายและการล่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การที่สัตว์แต่ละชนิดจะสามารถอยู่ได้ และดำรงเผ่าพันธุ์ได้อย่างสมบรูณ์จะต้องมีพื้นที่หากินพอสมควร ทั้งนี้พื้นที่หากินจะขึ้นกับขนาดของพื้นที่และความสมบรูณ์ของแหล่งน้ำแหล่งอาหาร และปัจจัยสิ่งแวดล้อมทีสำคัญ แม้ว่าจะมีความพยายามหามาตรการต่าง ๆ มาใช้ในการอนุรักษ์ แต่จำนวนสัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิดยังคงลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จนอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์คอขวด (Bottleneck effect) ทำให้ประชากรเพิ่มขั้นในลักษณะที่เรียกว่า เพิ่มขึ้นหลังคอขวด (post-bottleneck) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดภาวะเลือดชิดได้ง่าย และเมื่อเร็วๆนี้ ผมและเพื่อนๆอีก 4 ท่านรวมทั้งเจ้าหน้าที่วิจัยของอุทยานแห่งชาติปางสีดา จึงเดินป่าสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ อช.ปางสีดาไปจนถึงเขต อช.ตาพระยา เพื่อค้นหาร่องรอยวัวแดงที่กำลังจะหนีข้ามไปฝั่งเขมร 2. สภาพถิ่นอาศัยที่เป็นเกาะ ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าผืนอื่น (Habitat Fragmentation) นั้นคือสัตว์จะไม่สามารถเคลื่อนย้ายจากป่าหนึ่งไปผสมพันธุ์กับสัตว์ป่าอีกป่าหนึ่งได้ด้วยตัวมันเอง
ยกตัวอย่างช้างป่าในธรรมชาติ เมื่อช้างป่าเพศผู้ย่างเข้าสู่วัยรุ่นอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะเริ่มแยกตัวออกมาจากโขลงช้างจะผสมพันธุ์กับสายเลือดต่างโขลง ไม่ยอมผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันและในหมู่พี่น้องเดียวกัน จึงทำให้สายเลือดของป่ายังคงแข็งแรงเสมอ แต่ก็มีบ้างครั้งที่ช้างซึ่งถูกจำกัดพื้นที่ ไม่สามารถติดต่อหรือเข้าผสมพันธุ์กับช้างโขลงอื่นได้ ก็จะเกิดการผสมกันเองในโขลงหรือครอบครัวเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุปกรณ์ในการสำรวจประกอบด้วย แผนที่ GPS ตารางบันทึกการพบร่องรอย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผสมเลือดชิด....
การผสมเลือดชิดจะส่งผลต่อรูปร่างและโครงสร้างของร่างกายผิดปกติ กรณีสัตว์เผือก เช่น เสือขาว เม็ดสารที่ตามีน้อยกันแสงไม่ได้ สีขนที่เคยซ่อนพรางไปกับสภาพแวดล้อมในสัตว์บางประเภทหากเป็นเป็นสีขาวเด่นชัดมันย่อมเป็นเป้าที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับสัตว์ที่เป็นเหยื่อของสัตว์อื่น เช่น เก้งเผือก กวางเผือก มันย่อมจะถูกล่าได้ง่ายกว่าเดิม เพราะการซ่อนพรางสีขาวเอาไว้คงเป็นเรื่องยากมากต่อการหลบหนีสัตว์ผู้ล่า หรือในบางกรณีที่สัตว์มีไตข้างเดียวไม่มีรูทวาร หรือปากแหว่งเพดานโหว่ ก็เป็นผลพวงจากการผสมเลือดชิด เมื่อทราบข้อกังวลถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วเราก็มาดูในพื้นที่เราบ้างล่ะ วัวแดงจัดเป็นสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธ์ สาเหตุหลักของการลดลงอย่างรวดเร็วของประชากรวัวแดงทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยเป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือการบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยและหากินของวัวแดง ตลอดจนการลักลอบล่าวัวแดงเพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหาร และเขาที่สวยงามมาประดับตามอาคารบ้านเรือน ด้วยเหตุนี้หากยังคงปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป เชื่อแน่ว่าในอนาคตอันใกล้ ประชากรวัวแดงของประเทศไทยหรือในระดับโลกคงลดจำนวนลงจนถึงภาวะสูญพันธ์ในที่สุด นี่เป็นสภาพเส้นทางบางช่วงของการสำรวจ โดยเริ่มจาก อช.ปางสีดามุ่งหน้าไปทางตะวันออกหรือเทือกเขาพนมดงรักฝั่งเขมร ซึ่งจะพบทุ่งหญ้าแถบนี้มีพื้นที่ขนาด 500 ไร่ เป็นที่หากินของกระทิง และ วัวแดงเป็นระยะๆ จากการศึกษาเรื่องที่อยู่อาศัยของวัวแดง มีการศึกษาค่อนข้างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษากับกลุ่มประชากรในธรรมชาติ เช่น การศึกษาสถานภาพของวัวแดงในชวา และบาหลี (Asby and Santiapillai,1988)
และการใช้วิทยุส่งสัญญาณติดวัวแดง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งจากการศึกษาครั้งล่าสุด พ.ศ.2537-2538 พบว่าวัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งใช้พื้นที่ประมาณ 327 เฮกตาร์(52.32 ไร่) ในช่วงฤดูฝน และ 237 เฮกตาร์(37.92 ไร่) หมอล๊อตได้เล่าให้ผมฟังว่า วัวแดงกับวัวบ้านที่เลี้ยงอยู่ทั่วไปมีจำนวนโครโมโซมเท่ากัน และสามารถผสมข้ามพันธุ์กันได้ เช่น ในอินโดนีเซียมีการผสมข้ามพันธุ์มานานกว่า 1,500 ปี ทำให้ลูกผสมที่ได้มีเนื้อที่มีคุณภาพดีกว่า ไขมันต่ำอัตราการแลกเนื้อสูงกว่า สามารถเลี้ยงในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งและอากาศร้อนได้ดี นอกจากนั้ยังมีความฉลาดสามารถฝึกเพื่อใช้แรงงานได้ดี และยังทนทานต่อโรคระบาดได้ดีอีกด้วย ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหมอล๊อตและมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อย่างสูงด้วยครับ วันนี้ท้องฟ้าแจ่มอากาศไม่ถึงกับร้อนมากมายนัก ทีมงานวิจัยจากอุทยานแห่งชาติปางสีดา ที่นำโดยน้องตุ๊และผมกับเพื่อนๆ ก็มาพบกับโป่งดินขนาดใหญ่ หลังจากที่เราเดินป่ามาร่วมเกือบๆ 2ชม.
สภาพดินที่ยังอมน้ำนิดๆมีร่องรอยการมาใช้โป่งแห่งนี้ไม่น่าจะเกิน 16ชม. เพราะดินโคลนยังเปียกเปื้อนเกาะติดอยู่กับใบไม้ใบหญ้ารอบๆโป่งแห่งนี้ ซึ่งมีให้เราพบเห็นมากมายทีเดียว หลังจากพักเที่ยงกลางป่าท่ามกลางแสงแดดในหน้าหนาวที่กลางวันจะร้อน แต่กลางคืนจะเย็นจับใจจริงๆที่ปางสีดา เราก็ต้องเร่งฝีเท้าเดินต่อไปให้ถึงจุดหมายพักแรมในคืนแรกที่น้ำตกตีนช้าง
ระหว่างทางเดินตามป่า เราจะพบเห็นมูลสัตว์ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเก้ง กวาง อีเห็นข้างลาย หมาไน กระทิง แต่ในวันนี้เราเดินผ่านกาลเวลามากว่าครึ่งวันแล้ว เรายังไม่พบเห็นมูลของวัวแดงแต่อย่างใด.... ทีมสำรวจขณะเก็บข้อมูลรอยตีนสัตว์ป่าบนทางเดินที่เป็นพื้นทราย และวัดระยะรอยเท้าเพื่อต้องการนำมาเปรียบเทียบอายุและเพศตามตำราของกรมอุทยานฯ
การสำรวจโดยการวัดขนาดรอยตีนสัตว์ป่าที่พบทุกๆครั้ง ซึ่งวิธีการดังกล่าวเราเรียนรู้มาจาก ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง
และท่านก็เป็นผู้หนึ่งในทีมงานสำรวจวัวแดงที่ห้วยขาแข้ง และยังบอกเล่าถึงวงจรชีวิตของวัวแดงว่า....... " วัวแดงจะสืบพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม และ มิถุนายน ปกติการออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 9.5 - 10 เดือน..... .....เพศเมียสามารถสืบพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี แต่เพศผู้ต้องมีอายุมากกว่านี้เล็กน้อย...... .....หลังคลอดลูก 6 - 8 เดือน เพศเมียจะพร้อมผสมพันธุ์อีกครั้ง วัวแดงสามารถมีลูกได้ทุกปี อายุยืนประมาณ 20 - 25 ปี " ต้องขอบคุณพี่มัท หรือ ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง อย่างสูงครับ นี่ก็เป็นการสำรวจแบบลักษณะหนึ่ง โดยการวัดระยะก้าวของสัตว์ป่าที่พบเห็น
การเก็บรอยตีนสัตว์ป่า ที่หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ ก็เป็นอีกวิธีสำหรับงานทำข้อมูลเปรียบเทียบ เราเองก็พยายามทำตามตำราและการเดินทางในครั้งนี้จึงค่อนข้างจะเคลื่อนตัวช้ากว่าปกติ
นี่เป็นการวัดขนาดกองมูลของสัตว์ป่าที่พบเห็นในระหว่างเส้นทางที่เดิน วันนี้ช่วงบ่ายอากาศในป่าใหญ่ปางสีดาอบอาวกำลังดี บางครั้งเราเจอแอ่งน้ำจึงต้องลงไปชุบตัวเพื่อบรรเทาความร้อนกันบ้าง
การเก็บข้อมูล แม้นว่าพบกระโหลกศรีษะของสัตว์ป่า เราก็ต้องเก็บรายละเอียดพร้อมบันทึกภาพเพื่อนำไปใช้กับประโยชน์ให้กับหน่วยงานโคลนนิ่งสัตว์ป่าที่สูญพันธุ์...
ทราบหรือไม่ว่า...เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการทำโคลนนิ่งวัวแดง ซึ่งวัวแดงเป็นสัตว์ป่าหายากชนิดที่สอง ที่สามารถทำโคลนนิ่งได้สำเร็จต่อจากกระทิง นี่คือ....รอยตีนเสือโคร่ง ที่พบเห็นขณะเดินผ่านป่าช่วงระยะสุดท้ายก่อนค่ำ วันนี้เราเริ่มดีใจที่ได้พบเห็นรอยตีนของสัตว์ใหญ่ๆแล้ว
ตุ๊ จากทีมวิจัยปางสีดาผู้ผ่านป่าแห่งนี้มาเกือบ 12ปี และเคยเฉียดตายกลางป่าเมื่อครั้งเข้าไปจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้กระบากร่วมกับพี่ปราโมทย์(ตชด.ที่ถูกกับระเบิด และเสียขาและแขนทั้ง 2ข้าง)
บอกกับผมว่า นี่เป็น...รอยตีนหน้าทางด้านขวาของหมีควาย... ส่วนอีกจุดก็เป็น....รอยตีนหมาใน
และแล้วในที่สุด วันแรกของการเดินค้นหารอยตีนวัวแดง เราก็ประสบความสำเร็จ ก่อนถึงทางแยกตัดลงไปสู่น้ำตกตีนช้าง เราก็พบรอยตีนวัวแดง
แม้นว่าเป็นการพบครั้งแรกในวันนี้ ที่อาจจะบอกกับพวกเราว่า "รอยเท้านี้กำลังมุ่งหน้าไปทางเทือกเขาพนมดงรัก ฝั่งเขมรเพื่อหนีไปเที่ยวหาวัวแดงสาว หรือหนีแล้งบ้านเราไปหากินที่ป่าเขมร"ก็ตามที... เราดีใจที่ยังพบเห็นร่องรอยของวัวแดงที่ป่าปางสีดาแห่งนี้ เท่ากับว่าในอนาคตปางสีดาจะได้วัวแดงที่ทำการขยายพันธุ์มาปล่อยที่นี่แน่นอน แต่ยังไงก็คงต้องขอวัวแดงสาวๆมาบ้างล่ะ ก็เพราะวัวแดงสาวๆมีความสามารถที่จะดึงดูดเอาวัวแดงหนุ่มๆกลับมาบ้านเราอีกครั้งอย่างแน่นอน...คิดไปแล้วก็ขำเหมือนกันครับ คืนแรกขอการเดินป่าสำรวจประชากรวัวแดง เราต้องพักแรมที่น้ำตกตีนช้าง เพราะวันนี้ระยะทางที่เราเดินป่ามากว่า 8ชม.มันเลยครึ่งทางมาไกลถึง 27กม.แล้วครับ
เส้นทางเดินป่าแห่งนี้ ส่วนมากเราเดินตามเส้นทางสัตว์ป่าที่ออกหากิน ซึ่งส่วนมากเป็นป่าพื้นราบ อาจจะมีสูงชันเล็กน้อยเท่านั้น เราจึงเดินได้ไกลร่วม 27กม.ทีเดียว พักสายตาชั่วครู่ มาดูภาพวิถีคนจรรอนแรมในราวไพรทั่วไปสักนิดครับ
แซ่บหลายๆกับเมนูเด็ดๆ ฝีมือที่กลืนเข้าไปแล้วคายไม่ออกจากน้องๆปางสีดา ต้องขอขอบคุณมากมายอีกครั้งครับ
ตื่นเช้าๆท่ามกลางอากาศที่ยังเย็ยอยู่ เราออกเดินทางต่อไปเพื่อมุ่งหน้าสู่ลานประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งของการเมืองไทยในอดีต เราก็พบเห็นรอยตีนกระทิงตัวหใญ่ไม่เบา
แล้วก็พบรอยตีนพี่ใหญ่แห่งพงไพร คือรอยตีนช้างครับ
รอยตีนเลียงผา ที่พบในเส้นทางสำรวจ
นี่เป็นบ้านของเลียงผา ที่มีร่องรอยการเข้ามาใช้เพื่ออาศัยหลับนอนอย่างสม่ำเสมอ ดีใจมากมายครับที่ได้เห็น
ก่อนถึงผลานหินที่เคยเป็นจุดรวมพลของกลุ่มคนที่เคยมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากคนของรัฐในอดีตในยุค 14 ตุลา 16 เรามุดลงไปดูน้ำด้านล่าง ก็ไปพบกับสัตว์เลื้อยคลานคืองูอย่างจัง...
ถึงแล้วบริเวณพลาญหินกบ สถานที่ประชุมสัมมนาของทหารป่าในอดีตที่ผ่านมาเมื่อหลายก่อน
เราเองก็นั่งหารือถึงการสำรวจในครั้งนี้ และได้บทสรุปสั้นๆอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่สำคัญอีกประการสำหรับการทำงานเช่นนี้ ก็คือการหากล้องดักถ่ายบันทึกภาพสัตว์ป่าต่างๆเพื่อเก็บเป็นเอกสารยืนยันว่ามีจริง นอกจากที่เรามาเดินวัดรอยเท้าหรือปั๊มรอบเท้าด้วยปูนปลาสเตอร์เช่นนี้เพียงอย่างเดียว เดิมทีน้องๆจากปางสีดาบอกเราว่า สมัยก่อนเวลาออกมาเก็บข้อมูล ก็จะขอยืมกล้องคาเมรา แท็บ(Camera Trap)จาก ม.เกษตร์ศาสตร์มาใช้ แต่วันนี้ไม่มีกล้องดังกล่าวแล้ว เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำกลับคืนไปหมดแล้ว ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ทางกรมอุทยานฯก็ยังไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อยสำหรับอุทยานฯเล็กๆ ทางเราจึงสรุปว่าจะจัดหากล้องคาเมรา แท็ปมาให้เองสำหรับการสำรวจครั้งที่สองในช่วงวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนโครงการสำรวจวัวแดงเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาการท่องเที่ยวนั้น เราคงต้องใช้เวลาสำรวจถึง 3ครั้งเพื่อความแน่นอนในเรื่องของเก็บข้อมูลประชากรวัวแดงและสัตว์อื่นๆในผืนป่าปางสีดาแห่งนี้ต่อไป นีคือรูปร่างหน้าตาของกล้องดักบันทึกภาพสัตว์ป่า ที่เราต้องการใช้งานอย่างยิ่ง
สุดท้ายการศึกษาและออกสำรวจในครั้งนี้ ก็ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานภาพการกระจายการเลือกใช้สภาพถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ขนาดพื้นที่หากินในรอบวัน รอบเดือน และรอบปี
รวมทั้งความสามารถในการสืบต่อพันธุ์ กิจกรรมในรอบวัน ตลอดจนปัจจัยคุกคามต่อสถานภาพภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นแนวทางวางแผนและจัดการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์วัวแดง และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ เพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติในอนาคต ให้มีวิธีการและแบบแผนที่แน่นอนและถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อลดปัญหาการตายหลังการปล่อยและเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ของประเทศต่อไป ที่ผ่านมาองค์การสวนสัตว์ โดยสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้ดำเนินโครงการวิจัยวัวป่าร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองผสมเทียม กรมปศุสัตว์ของไทย และสถาบัน-สมิธโซเนียน ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ด้วยทุนจาก USAID - Washington และในปัจจุบันมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก็ได้เพาะขยายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnological Breeding) และได้ผลผลิตลูกวัวป่าที่มีการจัดยีน (Genetic Management) เป็นอย่างดียิ่ง เราจึงจำเป็นต้องทำแผนงานเพื่อการจะนำสัตว์ป่าเช่นวัวแดงกลับไปสู่ธรรมชาติอย่าให้ได้ผลดีที่สุดต่อไป ก็เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาการท่องเที่ยวในบริเวณป่าปางสีดาในอนาคต สุดท้ายต้องขอขอบผู้ร่วมงานสำรวจป่าปางสีดา ครั้งแรกทุกๆท่าน.... ขอบคุณน้องๆจากทีมงานวิจัยปางสีดา นำโดยน้องตุ๊ และทุกๆท่าน ขอบคุณแหล่งข้อมูลหมอล๊อตและมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ขอบคุณ ดร.มัทนา ศรีกระจ่าง ผอ.กองวิจัยสัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานฯ และขอบคุณเพื่อนๆพันทิป ที่เข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาเรื่องวัวแดงทุกๆท่านด้วยครับ พบกันอีกครั้งกับงานสำรวจครั้งที่สอง ช่วงวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ อช.ปางสีดา......ขอบคุณครับ จาก : www.pantip.com
ภาพและเนื้อเรื่อง
โดย : สหายสาลิกา
คืบคลาน ตาม "วัวแดง" ด้วยครับ |
กิจกรรม